MOTUL เคยนำเสนอเป็นข้อมูลให้กับผู้ใช้รถไปแล้วเกี่ยวกับปัญหา “ชาร์ฟละลาย” ว่าเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ครั้งนี้มาทำความรู้จักกับชิ้นส่วนที่เรียกว่าชาร์ฟกันสักหน่อยว่ามันคืออะไร อยู่ตรงไหนในเครื่องยนต์ รวมถึงอาการที่บอกว่าชาร์ฟละลายเป็นยังไง
“ชาร์ฟ” เป็นภาษาช่างที่ใช้เรียกกันแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ เรียกรวม ๆ ถึงชิ้นส่วน 3 ชิ้นในเครื่องยนต์คือ…
– Crankshaft คือ เพลาข้อเหวี่ยง
– Crankshaft Bearing คือ ประกับเพลาข้อเหวี่ยง หรือ “ชาร์ฟอก” ในภาษาช่าง
– Connecting Rod Bearing คือ ประกับก้านสูบ หรือ “ชาร์ฟอก” ในภาษาช่าง
ชิ้นส่วนที่เกิดปัญหาและเรียกกันว่า “ชาร์ฟละลาย” ก็คือ “ชาร์ฟอก” หรือ “ชาร์ฟก้าน” บางทีช่างก็เรียกทับศัพท์ว่า “แบริ่ง” ก็มีนะ ซึ่งชิ้นส่วนที่ว่านี้เป็นแผ่นโลหะโค้งบาง ๆ ที่ติดตั้งอยูู่ระหว่าง Main Journals หรือส่วนของข้อเพลาข้อเหวี่ยงที่ยึดกับเสื้อสูบ และ Rod Journals ส่วนของข้อเพลาข้อเหวี่ยงที่ยึดกับก้านสูบ ซึ่งทั้ง “ชาร์ฟอก” และ “ชาร์ฟก้าน” ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เพลาข้อเหวี่ยงกับเสื้อสูบและเพลาข้อเหวี่ยงกับก้านสูบเสียดสีกันโดยตรง
ตัว “ชาร์ฟอก” หรือ “ชาร์ฟก้าน” ไม่เพียงเป็นแผ่นโลหะทรงโค้งเข้ารูปกับตัวข้อของ Main Journals และ Rod Journals เท่านั้น ที่ตัวมันยังมีรูเล็กๆ อยู่ด้วยเพื่อให้น้ำมันเครื่องสามารถเข้าไปหล่อลื่นในส่วนนี้ได้ ตัว “ชาร์ฟอก” และ “ชาร์ฟก้าน” ไม่ได้เสียดสีกับเพลาข้อเหวี่ยงโดยตรงเช่นกัน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ชาร์ฟละลายก็อย่างที่เคยยกตัวอย่างไปในบทความก่อนหน้านี้ โดยเป็นไปได้ทั้งตามอายุการใช้งานเครื่องยนต์เอง น้ำมันเครื่องไม่มีคุณภาพ ปั๊มน้ำมันเครื่องพัง หรือมีการปรับแต่งเครื่องยนต์จนมีรอบที่จัดและความร้อนสูงเกินกว่าที่ชาร์ฟอกและชาร์ฟก้านจะรับได้ เป็นต้น
สำหรับอาการชาร์ฟละลาย ผู้ใช้รถจะทราบถึงปัญหานั้นได้ไม่ยาก เพราะเมื่อชาร์ฟละลายซึ่งหมายถึงชาร์ฟอกและชาร์ฟก้านผิดรูปไปจากเดิม ทำให้ในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานจะเกิดเสียง แต๊ก ๆ ๆ ๆ ๆ บริเวณด้านล่างของเครื่องยนต์ เป็นเสียงที่เกิดจากการเสียดสีกันของเพลาข้อเหวี่ยงกับตัวแบริ่งนั่นเอง